เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [2. ราธสังยุต]
2. ทุติยวรรค 2. มารธัมมสูตร

2. ทุติยวรรค
หมวดที่ 2
1. มารสูตร
ว่าด้วยมาร

[170] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่พระองค์ตรัสว่า ‘มาร มาร’ มารเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญา
เป็นมาร สังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป”

มารสูตรที่ 1 จบ

2. มารธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมของมาร

[171] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ธรรมของมาร ธรรมของมาร’ ธรรมของมาร
เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :262 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [2. ราธสังยุต]
2. ทุติยวรรค 4. อนิจจธัมมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นธรรมของมาร เวทนาเป็นธรรม
ของมาร สัญญาเป็นธรรมของมาร สังขารเป็นธรรมของมาร วิญญาณเป็นธรรม
ของมาร
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

มารธัมมสูตรที่ 2 จบ

3. อนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง

[172] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง’ สิ่งที่ไม่เที่ยง
เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อนิจจสูตรที่ 3 จบ

4. อนิจจธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

[173] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความ
ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา’ สิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :263 }